กลยุทธ์เข้าตี ของ 36 กลยุทธ์ในสามก๊ก

กลยุทธ์ที่ 13 ตีหญ้าให้งูตื่น

กลยุทธ์ตีหญ้าให้งูตื่น หรือ ต๋าเฉ่าจิงเสอ (อังกฤษ: Startle the snake by hitting the grass around it; จีนตัวย่อ: 打草惊蛇; จีนตัวเต็ม: 打草驚蛇; พินอิน: Dá cǎo jīng shé) เป็นกลยุทธ์ที่มีความหมายถึงการที่มีสิงใดพึงสงสัย ผิดแผกไปจากเดิม ควรจักส่งคนไปทำการสอดแนมให้รู้ชัดแจ้งเพื่อเป็นการกุมสภาพศัตรูเอาไว้ เมื่อได้ข่าวคราวศัตรูแล้วจึงนำกำลังทหารบุกเข้าโจมตีให้พ่ายแพ้ย่อยยับ เรียกว่า "สงสัยพึงแจ้ง สังเกตจึงเคลื่อน" คัมภีร์อี้จิงกล่าวว่า "ใช้มรรควิธีเดิมกลับไปมา 7 วัน เมื่อละเอียดแล้วจึงเข้าใจสิ่งนั้นได้ หากศัตรูสงบนิ่งก็พึงสร้างสถานการณ์ให้ศัตรูเคลื่อนไหวเพื่อให้เกิดช่องโหว่ จากนั้นจึงหาโอกาสเอาชัย" ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์ตีหญ้าให้งูตื่นไปใช้ได้แก่จูกัดเหลียงที่ต้องการดูชั้นเชิงกองกำลังทหารโจโฉเมื่อคราวเล่าปี่นำกำลังทหารไปตีฮันต๋ง[16]

กลยุทธ์ที่ 14 ยืมซากคืนชีพ

กลยุทธ์ยืมซากคืนชีพ หรือ เจี้ยซือหวนหุน (อังกฤษ: Borrow a corpse to resurrect the soul; จีนตัวย่อ: 借尸还魂; จีนตัวเต็ม: 借屍還魂; พินอิน: Jiè shī huán hún) เป็นกลยุทธ์ที่มีความหมายถึงการที่ผู้ที่มีความสามารถและมีบทบาทในหน้าที่ต่าง ๆ จะใช้ความสามารถนั้นในการปฏิบัติหน้าที่อย่างผลีผลามไม่ได้ ส่วนผู้ที่ไร้ซึ่งความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ ก็มักจะขอความช่วยเหลืออยู่เป็นนิจ การที่ใช้ผู้ที่ไร้ซึ่งความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ มิใช่เป็นการที่จะมอบหมายหน้าที่ให้ปฏิบัติ หากแต่เป็นเพราะผู้ที่ไร้ซึ่งความสามารถต้องการความพึ่งพายามต้องการความช่วยเหลือ ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์ยืมซากคืนชีพไปใช้ได้แก่จูกัดเหลียงที่ให้นำเมล็ดข้าวสารใส่ไว้ในปากเพื่อเป็นการรักษาดาวสำหรับต่ออายุ และหลอกทหารสุมาอี้ให้หลงชื่อว่ายังมีชีวิตอยู่[17]

กลยุทธ์ที่ 15 ล่อเสือออกจากถ้ำ

กลยุทธ์ล่อเสือออกจากถ้ำ หรือ เตี้ยวหู่หลีซาน (อังกฤษ: Entice the tiger to leave its mountain lair; จีนตัวย่อ: 调虎离山; จีนตัวเต็ม: 調虎離山; พินอิน: Diào hǔ lí shān) เป็นกลยุทธ์ที่มีความหมายถึงการที่ใช้ภาพลวงที่จงใจสร้างขึ้นเพื่อหลอกล่อให้ศัตรูเกิดความประมาท ชะล่าใจในการทำศึกสงคราม ละทิ้งแนวฐานการป้องกันของกองทัพซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ฉกฉวยจังหวะและโอกาสที่ศัตรูเกิดความอ่อนแอหลงเชื่อในภาพลวงที่สร้างขึ้น นำกำลังบุกเข้าโจมตีหรือทำลายเสียให้สิ้นซากช่วงชิงชัยชนะมาเป็นของตน ดั่งคำกล่าวว่า "อันธรรมดาเสือเมื่ออยู่ในถ้ำย่อมอันตราย จะจับเสือได้ก็ต่อเมื่อล่อให้มาตกในหลุมพรางที่ดักไว้" ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์ล่อเสือออกจากถ้ำไปใช้ได้แก่อ้องอุ้นที่ใช้กลยุทธ์สาวงามทำให้ตั๋งโต๊ะผิดใจกับลิโป้และลวงไปฆ่าในวังหลวง[18]

กลยุทธ์ที่ 16 แสร้งปล่อยเพื่อจับ

กลยุทธ์แสร้งปล่อยเพื่อจับ หรือ อวี้ฉินกู้จ้ง (อังกฤษ: In order to capture, one must let loose; จีนตัวย่อ: 欲擒故纵; จีนตัวเต็ม: 欲擒故縱; พินอิน: Yù qín gū zòng) เป็นกลยุทธ์ที่มีความหมายถึงการใช้สติปัญญาในการวางแผน การจับเชลยศึกสงครามได้นั้นถ้าหากบีบคั้นจนเกินไปจนไม่สามารถรีดเอาความต่าง ๆ ได้ เปรียบประหนึ่ง "สุนัขที่จนตรอก ย่อมต่อสู้จนสุดชีวิต" การปล่อยศัตรูให้เป็นฝ่ายหลบหนีก็จักเป็นการทำลายขวัญและกำลังใจ ความเหิมเกริมของศัตรูได้ การปล่อยศัตรูหลบหนีจะต้องนำกำลังไล่ติดตามอย่าลดละ เพื่อเป็นการบั่นทอนกำลังทหารของศัตรูให้อ่อนแรง กะปลกกะเปลี้ยน ครั้นเมื่อหมดสิ้นเรี่ยวแรง มิได้มีใจคิดต่อสู้ด้วยก็จะยอมจำนนสวามิภักดิ์ เมื่อนั้นจึงจับเอาเป็นเชลยได้โดยง่าย ซึ่งเป็นการทำศึกสงครามที่ไม่เสียเลือดเนื้อและกำลังทหาร อีกทั้งยังเป็นเหตุให้ศัตรูแตกพ่ายยับเยินไปเอง ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์แสร้งปล่อยเพื่อจับไปใช้ได้แก่จูกัดเหลียงที่ทำศึกสงครามกับเบ้งเฮ็ก เมื่อจับได้เป็นเชลยก็ปล่อยตัวเสียเพื่อให้เบ้งเฮ็กไปรวบรวมผู้คนมาต่อสู้อีกครั้ง จนกระทั่งยอมแพ้และสวามิภักดิ์ต่อจูกัดเหลียง[19]

กลยุทธ์ที่ 17 โยนกระเบื้องล่อหยก

กลยุทธ์โยนกระเบื้องล่อหยก หรือ เพาจวนอิ่วอวี้ (อังกฤษ: Tossing out a brick to get a jade gem; จีนตัวย่อ: 抛砖引玉; จีนตัวเต็ม: 拋磚引玉; พินอิน: Pāo zhuān yǐn yù) เป็นกลยุทธ์ที่มีความหมายถึงการใช้สิ่งใดที่มีความคล้ายคลึงกันในการหลอกล่อศัตรู ให้ศัตรูเกิดความสับสนและต้องกลอุบายแตกพ่ายไป การใช้กลยุทธ์โยนกระเบื้องล่อหยกนี้ เป็นกลยุทธ์ที่กำหนดขึ้นตามสภาพรูปธรรมของศัตรู ในยามทำศึกสงครามเมื่อได้รบพุ่งกับศัตรู แม่ทัพหรือขุนศึกฝ่ายตรงข้ามมีแต่ความโง่เง่า มิรู้จักการพลิกแพลงกลยุทธ์ในเชิงรบ จักหลอกล่อด้วยผลประโยชน์ อำนาจวาสนา ถ้าศัตรูหลงในลาภยศต่าง ๆ มิรู้ผลร้าย ขาดการไตร่ตรองใคร่ครวญในกลอุบาย ก็สามารถลอบซุ่มทหารโจมตีเอาชนะมาเป็นของตนได้โดยง่าย ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์โยนกระเบื้องล่อหยกไปใช้ได้แก่จูกัดเหลียงที่พึงพอใจฝีมือเกียงอุยจึงอยากได้ตัวไว้ จึงยอมเสียแฮหัวหลิมซึ่งมีตำแหน่งเป็นถึงบุตรเขยของโจยอยเพียงเพื่อให้ได้มาซึ่งนายทหารที่มีสติปัญญาเป็นเลิศ[20]

กลยุทธ์ที่ 18 จับโจรเอาหัวโจก

กลยุทธ์จับโจรเอาหัวโจก หรือ ฉินเจ๋ยฉินหวาง (อังกฤษ: Defeat the enemy by capturing their chief; จีนตัวย่อ: 擒贼擒王; จีนตัวเต็ม: 擒賊擒王; พินอิน: Qín zéi qín wáng) เป็นกลยุทธ์ที่มีความหมายถึงการทำศึกสงคราม จักต้องบุกเข้าโจมตีศัตรูในจุดที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ของกองทัพ เพื่อสลายกำลังของศัตรูให้แตกกระจาย ศัตรูที่มีแม่ทัพฝีมือดีในการทำศึกสงครามย่อมเป็นขวัญและกำลังใจของเหล่าทหาร การวางแผนใช้กลอุบายหลอกล่อเอาชนะแม่ทัพที่มีฝีมือในเชิงยุทธ์ที่เก่งกาจ จักให้ต้องกลอุบายที่สับสน หลอกล่อให้หลงทิศและขจัดไปเสียให้พ้น เสมือน "มังกรสู้บนปฐพี ก็อับจนหมดหนทาง" ซึ่งเปรียบประหนึ่งดุจมังกรในท้องทะเล อาจหาญขึ้นมาต่อสู้กับศัตรูบนผืนแผ่นดิน ก็ย่อมได้รับความปราชัยแก่ศัตรูได้โดยง่าย ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์จับโจรเอาหัวโจกไปใช้ได้แก่จูกัดเหลียงที่มีความกริ่งเกรงต่อสุมาอี้ในการทำศึกสงครามกับวุยก๊กจึงวางกลอุบายขจัดสุมาอี้ ซึ่งเมื่อปราศจากสุมาอี้แล้วจูกัดเหลียงก็ไม่เกรงกลัวต่อความยิ่งใหญ่ของกองทัพวุยก๊กอีกต่อไป[21]